ปูนปิดทอง

ปูนปิดทอง

กฤษณา อโศกสิน


(พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๕๘ สำนักพิมพ์ เพื่อนดี, ๖๑๒ หน้า ราคา ๔๑๐ บาท)


ถ้าเป็นพระ ย่อมเป็นพระพุทธรูปอันแท้จริง
ซึ้งมนุษย์ทั้งโลกหล้าคารวะด้วยธูป เทียน ดอกไม้
และเปลวทองคำอันอร่ามเรือง 
หากเป็นเพียงปูนปลาสเตอร์ 
ที่มีรูปลักษณ์คล้ายพระพุทธรูป 
หลอกให้คนเข้าใจผิดด้วยแผ่นทองที่หุ้มไว้แล้ว
จะเรียกร้อง...ศรัทธาและคารวะ...กระนั้นหรือ


ความเจ๋งของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่เนื้อหามันยังคงเป็นปัจจุบัน
แม้ว่ามันจะถูกเขียนขึ้นในยุคที่เนื้อหมูยังกิโลละ ๕๐ 
ค่าแท็กซี่ทางไกลปาเข้าไป ๗๐-๘๐ บาท ทำเอาคนบ่นกันให้ขรม
ในยุคที่ค่านิยมของผู้หญิงดีนั้นต้องบริสุทธิ์

ปูนปิดทอง  นั้นได้รับรางวัลซีไรต์ปี ๒๕๒๘ 
พื้นฐานกาลเวลาในเรื่องดำเนินไปในช่วงทศวรรษที่ ๘๐ ตามปีแบบฝรั่ง
เรียกได้ว่านวนิยายเรื่องนี้ผ่านช่วงเวลามาอย่างยาวนานทีเดียว 
จนถึงบัดนี้ที่ฉันกำลังนั่งบันทึกอะไรบางสิ่ง หลังจากที่เพิ่งอ่านจบแม้ไม่อาจเรียกได้ว่าสดๆร้อนๆก็ตามที
สิ่งแรกที่ฉันพบในนวนิยายเรื่องนี้คือ มันยังคงเป็นปัจจุบัน อยู่มากอย่างไม่น่าเชื่อ
เรียกว่าช่วงเวลากว่า ๓ ทศวรรษ ไม่อาจกร่อนกัดทำให้นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องเก่า ล้าสมัยไปได้เลย
และฉันก็เชื่ออีกด้วยว่านวนิยายเรื่องนี้จะเป็นนวนิยายร่วมสมัยไปตลอดกาล...
เรื่องราวของครอบครัวที่แตกแยก บุพการีไม่ไยดีดีบุตร เราก็คงได้เห็นได้ยินกันอยู่บ่อยๆไป

ปูนปิดทอง ดำเนินเรื่องราวผ่านตัวละครหลักสองตัว คือชายหนุ่มและหญิงสาวนามว่า
สองเมืองและบาลี ผลพวงจากครอบครัวแตกแยกทำให้ เขาและเธอมีแผลลึก 
แม้บัดนี้ความเจ็บปวดจะหายไป แต่ก็ยังทิ้งรอยแผลนั้นไว้ให้เห็นและยากที่จะปกปิด 


ความรู้สึกหลังอ่าน

ด้วยความเป็นนวนิยายเก่าแม้โครงเรื่องหลักจะร่วมสมัยแต่วิธีการดำเนินเรื่องนั้นก็อาจจะยังดูเนิบช้าอยู่บ้าง (ถ้าเทียบกับนิยายสมัยใหม่ที่รักกันง่ายได้กันเร็ว)
แต่ในความช้านั้นก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกหน่ายเหนื่อยแต่อย่างใด  ดีเสียอีกเพราะมันเหมือนกับว่าเรานั้นได้รู้จักพวกเขาอย่างลึกซึ้งเข้าใจความเป็นมา 
รู้ซึ้งซึ่งเหตุผลของแต่ละการกระทำของพวกเขาอย่างปลดเปลื้อง ต้องบอกเลยว่านวนิยายเรื่องนี้ดีมากๆ มีคุณค่าภาษาสวยงาม สมแก่การรอคอยและตามหามานาน

ตัวละครที่ กฤษณา อโศกสิน สร้างขึ้นมานั้น สองเมือง และ บาลี นอกจากชื่อจะเก๋ไก๋ตามสไตล์ผู้เขียนแล้วก็ยังมีความเป็นมนุษย์สูง มนุษย์แบบมนุษย์จริงๆที่ไม่อิงนิยายแม้เขาทั้งคู่จะเป็นตัวละครในนวนิยายก็ตามที หรือที่ฉันตั้งใจจะบอกก็คือ ตัวละครในเรื่องนี้ห่างไกลกับคำว่าอุดมคตินัก ทุกๆตัวมีทั้งด้านที่หม่นหมองและผ่องใส มากหรือน้อยกว่ากันขึ้นอยู่กับสถาณการณ์ต่างๆในชีวิต 
รวมถึงว่าพวกเขาแต่ละคนนั้นจะเลือกนำพาชีวิตของตนไปในทิศทางไหนกัน 

สิ่งที่ชอบในนวนิยายเรื่องนี้นั้นมีมากมามาย ชอบความนับถือตัวเองของบาลี ชอบตัวละครสองเมืองที่รู้จักการละวางทิฐิ ชอบตัวละครพ่อแม่ที่ยอม รับสำนึกและแก้ตัวกับความผิดพลาดในอดีต 
หลายๆประโยคในนวนิยายเรื่องนี้นั้นชวนให้ฉุกคิดมองชีวิตและสิ่งรอบๆตัวเองได้เป็นจริงมากขึ้น

ตัวละครในเรื่องนี้ล้วนเคยทำผิด ผิดต่อลูก ผิดต่อพ่อ ผิดต่อแม่ หรือแม้ผิดต่อตัวเอง แต่เมื่อสถานการณ์เหล่านั้นได้ก้าวผ่านช่วงเวลาทำให้พวกเขาได้มองเห็น ย้อนคิด สำนึกผิด และแก้ไข จึงลงท้ายด้วยบทสรุปของชีวิตที่ต้องการ




เม สระเอมอม้า
Trash of M(a)E
20180604







ความคิดเห็น